วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สังสารวัฏ คือ?????



 เกิดการตายแบบข้ามภพข้ามชาติหรือการเกิดการตายอย่างที่ชาวโลกทั่วไปเข้าใจกัน  




สังสารวัฎ จากพระโอษฐ์ 
สังสารวัฎ 
อนมตัคคสังยุตต์ ปฐมวรรคที่ ๑ 

๑. ติณกัฏฐสูตร เล่มที่ ๑๖

[๔๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้น
แล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ ฯ

[๔๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้
ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่า นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเราโดย
ลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด

ส่วนว่า หญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่
สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่
ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูน ปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอด
กาลนาน เหมือนฉะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

จบสูตรที่ ๑
๒. ปฐวีสูตร 

[๔๒๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ ฯ 


[๔๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษปั้นมหาปฐพีนี้ให้เป็นก้อนก้อนละเท่าเม็ดกระเบาแล้ววางไว้ สมมติว่า นี้เป็นบิดาของเรา นี้เป็นบิดาของบิดาของเราโดยลำดับ บิดาของบิดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนมหาปฐพีนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน
เหมือนฉะนั้น


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวงพอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

จบสูตรที่ ๒
๓. อัสสุสูตร 

[๔๒๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

  ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ฯลฯพวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำตาที่หลั่งไหลของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน ฯ 

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกข้าพระองค์ ผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะการประสบสิ่งที่ไม่พอ
ใจ เพราะการพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้แหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ฯ


[๔๒๖] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ ๆ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมาฯลฯ โดยกาลนานนี้แหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดาตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบมรณกรรมของมารดา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนั่นแหละ มากกว่า 

ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของบิดา ... ของพี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว ... ของบุตร ... ของธิดา ... ความเสื่อมแห่งญาติ ... ความเสื่อมแห่งโภคะ ... ได้ประสบความเสื่อมเพราะ
โรค ตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบความเสื่อมเพราะโรค คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ นั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่
มากกว่าเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้ง
ปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

จบสูตรที่ ๓ 
๔. ขีรสูตร
[๔๒๗] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ฯลฯ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำ
นมมารดาที่พวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่โดยกาลนานนี้ ดื่มแล้ว กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไหนจะมากกว่ากัน ฯ 


ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว น้ำนมมารดาที่พวกข้าพระองค์ ผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่โดยกาลนาน ดื่มแล้วนั่นแหละมากกว่า น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ฯ


[๔๒๘] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละๆ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว น้ำนมมารดาที่พวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่โดยกาลนาน ดื่มแล้วนั่นแหละ มากกว่า น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ 

จบสูตรที่ ๔
๕. ปัพพตสูตร

[๔๒๙] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ฯลฯ เมื่อภิกษุรูปนั้นนั่งเรียบร้อย
แล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปหนึ่งนานเพียงไรหนอแล

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 
ดูกรภิกษุ กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับกัป นั้นว่า
เท่านี้ปี เท่านี้ ๑๐๐ ปี เท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ฯ


ภิ. ก็พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม พระเจ้าข้า ฯ


[๔๓๐] พ. อาจอุปมาได้ ภิกษุ แล้วจึงตรัสต่อไปว่า

ดูกรภิกษุ เหมือนอย่างว่า ภูเขาหินลูกใหญ่ยาวโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่ง สูงโยชน์หนึ่ง ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีมาแล้วปัดภูเขานั้น ๑๐๐ ปีต่อครั้ง ภูเขาหินลูกใหญ่นั้น พึงถึงการหมดไปสิ้นไป
เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงการหมดไป สิ้นไป กัปนานอย่างนี้แล
บรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้ว มิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่พันกัป มิใช่แสนกัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ 


จบสูตรที่ ๕


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ พุทธศาสนาได้กล่าวถึงการเกิดการตายไว้ทั้ง  ๒  แบบ  คือการเกิดการตายแบบข้ามภพข้ามชาติหรือการเกิดการตายอย่างที่ชาวโลกทั่วไปเข้าใจกัน  และการเกิดการตายแบบชั่วขณะจิตที่พิจารณาจากแง่ปรมัตถ์  การเกิดการตายทั้ง ๒ แบบนี้ก็ถูกต้องด้วยกันในขอบเขตแห่งความหมายของตน  แต่เมื่อกล่าวถึงสังสารทุกข์หรือความทุกข์ที่เกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดอันไม่มีที่สิ้นสุดว่าเป็นสิ่งที่ควรทำลายให้หมดสิ้นไป  พุทธศาสนาจะมุ่งเน้นถึงการเวียนว่ายตายเกิดแบบข้ามภพข้ามชาติ  มากกว่าการเกิดการตายแบบชั่วขณะจิต 



--->>> ความหมายของสังสารวัฏ
คำว่า  "สังสารวัฏ"  มาจากคำว่า  "สังสาระ =  การท่องเทียวไป"  กับ  "วัฏฏะ =  วงกลม"

สังสารวัฏจึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า  "การท่องเที่ยวไปเป็นวงกลม"  โดยใจความหมายถึง  การที่สิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เวียนตายเวียนเกิด  คือเกิดแล้วตาย  ตายแล้วเกิดใหม่  แล้วตายอีก  แล้วเกิดใหม่อีก  วนเวียนอยู่อย่างนี้อย่างไม่มีวันจบสิ้น  นี่คือการท่องเที่ยวไปเป็นวงกลม  หรือสังสารวัฏตามความหมายของพระพุทธศาสนา

ที่เรียกว่าเป็นการท่องเที่ยวไปก็เพราะการมีชีวิตอยู่เปรียบเสมือนการเดินทาง  นับตั้งแต่ปฏิสนธิขึ้นในครรภ์ของมารดาจนกระทั่งออกมาสู่โลกภายนอก  ภาวะทางกายและทางจิตของมนุษย์ไม่เคยหยุดอยู่กับที่แต่ก้าวไปข้างหน้าทุกขณะจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตนี้ก็ผ่านจากภพนี้ไปสู่ภพอื่น  เมื่อสิ้นสุดชีวิตในภพอื่นก็ผ่านไปสู่ภพอื่นต่อไปและต่อๆ ไปไม่สิ้นสุด  ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า

"...ดูกรภิกษุทั้งหลาย  สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้
เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องขวางกั้น  มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้
ท่องเที่ยวไปมาอยู่ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ท่อนไม้ที่บุคคลโยนขึ้นไปบนอากาศ  บางคราวก็ตกลงทางโคน
บางคราวก็ตกลงทางขวาง  บางคราวก็ตกลงทางปลาย
แม้ฉันใด  สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องขวางกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้  ท่องเที่ยวไปมาอยู่  ก็ฉันนั้นแล
บางคราวก็จากโลกนี้ไปสู่ปรโลก  บางคราวก็จากปรโลกมาสู่โลกนี้
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะว่า  สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้..."

"...ดูกรภิกษุทั้งหลาย  สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้  ฯลฯ
เมื่อบุคคลหนึ่งท่องเที่ยวไปมาอยู่ตลอดกัปหนึ่ง
พึงมีโครงกระดูก  ร่างกระดูก  กองกระดูกใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละ
ถ้ากองกระดูกนั้นพึงเป็นของที่จะขนมารวมกันได้
และกระดูกที่ได้กองรวมไว้แล้วไม่พึงกระจัดกระจายไป
ข้อนั้นเพราะเหตุไร  เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้..."

พระพุทธพจน์ที่ได้ยกมากล่าวนี้  แสดงให้เห็นแนวความคิดที่สำคัญในพุทธศาสนาหลายประการ  คือ


--->>  ประการแรก    แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความคิดหรือความเชื่อเรื่องสังสารวัฏ  อันหมายถึง  การเวียนว่ายตายเกิดแบบข้ามภพข้ามชาติ  มิใช่การเกิดการตายแบบชั่วไม่กี่ขณะจิต  ที่ว่าเมื่อความรู้สึกว่า  "ตัวเรา"  หรือ  "ตัวกู" เกิดขึ้นด้วยอำนาจของอุปาทานก็เป็นการเกิด  เมื่อความรู้สึกว่า  "ตัวกู"  ดับไปก็เป็นการตาย  จริงอยู่  การเวียนว่ายตายเกิดตามแนวปฏิจจสมุปบาทอาจอธิบายในแนวดังกล่าวนี้ได้  แต่การถือว่าสังสารวัฏตามคำสอนของพระพุทธศาสนาหมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดตามนัยนี้อย่างเดียว  แล้วปฏิเสธการเวียนว่ายตายเกิดแบบข้ามภพข้ามชาติ  ย่อมเท่ากับปฏิเสธพระพุทธพจน์ดังกล่าวนั้นและพระพุทธพจน์ที่ยกมากล่าาวไว้นั้น  ถ้าพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมตรงไปตรงมาก็ไม่มีความสมเหตุสมผลใดๆ ที่จะตีความว่า  หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดแบบ  "ตัวกู  ของกู"  ในชั่วไม่กี่ขณะจิตของชีวิตปัจจุบัน  นอกจากจะบิดเบือนตีความเพื่อให้เข้ากับ  "ทิฏฐิ"  ของตนเท่านั้น

ถ้าจะพิจารณาว่า  พระพุทธพจน์จากสังยุตตนิกายที่ยกมาอ้างอิงนั้น  "น่าจะ"  หรือ  "คงจะ"  ไม่ใช่พระพุทธพจน์ที่แท้จริง  คงจะเป็นข้อความที่  "ชาวพุทธบางคน"  เพิ่มเติมเข้ามาแล้วแอบอ้างเป็นพระพุทธพจน์ในภายหลัง  ก็ต้องปฏิเสธข้อความทำนองนี้ทั้งหมด  ที่มีอยู่มากมายในพระไตรปิฎก  ซึ่งการกระทำเช่นนี้ยากที่ชาวพุทธซึ่งมี  "ตถาคตโพธิสัทธา - เชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า"  โดยสุจริตจะยอมรับได้

อนึ่ง  ถ้าเป็นการเวียนว่ายตายเกิดแบบเมื่อความรู้สึกยึดมั่นว่า  "ตัวกู"  เกิดขึ้นเป็นการเกิด  เมื่อความยึดมั่นว่า  "ตัวกู"  ดับลงก็เป็นการตาย  แม้จะมีการเกิดการตายแบบนี้กี่หมื่นกี่แสนครั้งในชีวิตนี้  เมื่อตายลงจริงๆ ก็จะมีเพียงโครงกระดูกเดียวเท่านั้น  แต่ในพระพุทธพจน์ที่ยกมากล่าวไว้นั้น  พระพุทธเจ้าตรัสแสดงถึงโครงกระดูกของสัตว์หรือบุคคลคนหนึงที่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ๑ กัปว่า  ถ้าสามารถนำมากองรวมกันได้  กองกระดูกก็จะสูงใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละ  ซึ่งเป็นภูเขาใหญ่ลูกหนึ่งในห้าลูกที่วงล้อมเมืองราชคฤห์ในสมัยนั้น  เรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดโดยปราศจากข้อสงสัยว่าสงสารหรือสังสารวัฏที่พระพุทธเจ้าทรงหมายถึงนั้น  เป็นการเวียนว่ายตายเกิดแบบข้ามภพข้ามชาติ


--->>  ประการที่สอง  แสดงให้เห็นว่า  ตามทรรศนะของพุทธศาสนาเราไ่้ม่อาจสาวไปหาจุดเริ่มต้นของมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้แต่ละคนได้ว่าเขาเริ่มมีขึ้นครั้งแรกเมื่อไร  จุดเริ่มต้นครั้งแรกคงจะมี  เพราะมนุษย์เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของเหตุปัจจัยในธรรมชาติ  แต่พุทธศาสนาถือว่าจุดเริ่มต้นเช่นนั้นเป็นสิ่งเกินวิสัยที่เราจะสาวย้อนไปหาจนถึงที่สุดได้  จุดที่สุดเบื้องปลายแห่งสังสารวัฏของบุคคลบางคนอาจจะพอกำหนดได้  นั่นคือ  สำหรับบุคคลบางคนที่เห็นแจ้งหรือมีโอกาสที่จะเห็นแจ้งในสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้  ในที่สุดเขาก็จะเข้าถึงความหลุดพ้นจากจากทุกข์เข้าสู่ปรินิพพานไป  สังสารวัฏสำหรับบุคคลเช่นนี้  ก็เป็นอันสิ้นสุดลง  แต่สำหรับบุคคลที่ไม่มีโอกาสได้พบสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้  หรือพบแต่ไม่ศรัทธาเลื่อมใสในพุทธธรรมที่สุดเบื้องปลายแห่งสังสารวัฏของบุคคลเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจกำหนดได้  เพราะสัีงสารวัฏของเขาจะไม่มีวันสิ้นสุด 


--->>  ประการที่สาม  แสดงให้เห็นว่า  อวิชชาและตัณหาเป็นตัวการที่ทำให้บุคคลต้องเวียนว่ายตายเกิด  ท่องเที่ยวเร่ร่อนไปในสังสารวัฏ  คำว่า  "อวิชชา"  ในที่นี้หมายถึงความไม่รู้แจ้งในสัจธรรม  ท่านชี้ไปที่ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔  ได้แก่  ความไม่รู้แจ้งในทุกข์  ไม่รู้แจ้งในเหตุให้เกิดทุกข์  (ทุกขสมุทัย)  ไม่รู้แจ้งในความดับทุกข์  (ทุกขนิโรธ)  และไม่รู้แจ้งในข้อปฏิบัติทีนำไปสู่ึความดับทุกข์  (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา)  ถ้ารู้แจ้งในอริยสัจทั้ง ๔ ประการนี้  การท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏก็สิ้นสุดลง  แต่เพราะไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔  จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดไปไม่มีที่สิ้นสุด  ส่วนตันหาได้แก่ความทะยานอยาก  หมายถึงตัณหา ๓ อย่าง  คือ  กามตัณหา  ภวตัณหา  และวิภวตัณหา  หรือตัณหา ๖  คือ  รูปตัณหา  สัททตัณหา  คันธตัณหา  รสตัณหา  โผฏฐัพพตัณหา  และธัมมตัณหา  ทั้งอวิชชาและตัณหาดังกล่าวนี้เป็นกิเลสอันเป็นสิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมอง  ตามทรรศนะของพุทธศาสนาตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถทำลายกิเลสให้หมดไปจากจิต  การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏก็ยังมีอยู่ตราบนั้น

--->>  ประการที่สี่  แสดงให้เห็นความยาวนานของเวลา ๑  กัป  ตมทรรศนาของพุทธศาสนาว่า  เป็นเวลาที่ยาวนานมาก  ถ้าสามารถนำเอาโครงกระดูกของบุคคลหนึ่งที่เวียนว่ายตายเกิดท่องเที่ยวไปมาแล้ว ๆ เล่า ๆ ในสังสารวัฏในช่วงเวลา ๑ กัป  มากองรวมกันได้  กองโครงกระดูกก็จะสูงใหญ่เท่ากับภูเขาเวปุลละ  ซึ่งย่อมยากที่จะนับจำนวนได้ว่าจำนวนโครงกรดูกทั้งหมดเท่าไร

กี่ยวกับเวลา ๑ กัปนี้  ในสังยุตตนิกาย  พระพุทธเจ้าตรัสว่า

...ดูกรภิกษุ  เหมือนอย่างว่าภูเขาหินลูกใหญ่ยาวโยชน์หนึ่ง  กว้างโยชน์หนึ่ง  สูงโยชน์หนึ่ง  ไม่มีช่อง  ไม่มีโพรง  เป็นแท่งทึบ  บุรุษพึงอาผ้าแคว้นกาสีมาแล้วปัดภูเขานั้น  ๑๐๐  ปีต่อครั้ง  ภูเขาหินลูกใหญ่นั้นพึงถึงการหมดสิ้นไปเพราะความพยายามนี้ยังเร็วกว่าแล  ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงสิ้นสุดไป  กัปนานอย่างนี้แล  บรรดากัปที่นานอย่างนี้  พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้วมิใช่กัปหนึ่ง  มิใช่ร้อยกัป  มิใช่พันกัป  มิใช่แสนกัป  ข้อนั้นเพราะเหตุไร  เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องตนเบื้องปลายไม่ได้  ฯลฯ  ดูกรภิษุทั้งหลาย  ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีเดียวที่จะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง  พอเพื่อจะคลายกำหนัด  พอเพื่อจะหลุดพ้น  ดังนี้

...ดูกรภิกษุ  เหมือนอย่างว่านครที่ทำด้วยเหล็ก  ยาวโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่ง  สูงโยชน์หนึ่ง  เต็มด้วยเมล็ดผักกาด  มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดรวมกันเป็นกลุ่มก้อน  บุรุษพึงหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึี่่่่่่่่่่่่่ง ๆ ออกจากนครนั้นโดยล่วงไปหนึ่งร้อยปีต่อเมล็ด  เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้นพึงสิ้นไปหมดไปเพราะความพยายามนี้  (เวลาที่ใช่ในกาลนี้) ยังเร็วกว่า  ส่วนเวลากัปหนึ่งยังไม่สิ้นสุดไปกัปนานอย่างนี้แล...
พระพุทธพจน์ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า  เวลา ๑ กัปเป็นเวลาที่นานจนยากที่จะประมาณได้ว่านานเท่าไร  ถ้าพิจารณาตามกรณีของการนำเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดออกจากนครกำแพงเหล็ก ๔ เหลี่ยม  ๑๐๐ ปี  ต่อ ๑ เมล็ด  เวลา  ๒,๕๐๐  ปีเศษตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานมาจนถึงปัจจุบัน  เมล็ดพันธ์ผักกาดเพิ่งถูกนำออกมาเพียง  ๒๕ เมล็ดเเท่านั้น  ยังไม่ถึงแม้เพียง ๑ หยิบมือ  ส่วนที่ยังไม่ได้นำออกมานั้นมากจนสุดประมาณได้  เวลาที่เราท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนั้น  พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่กัปเดียว  ไม่ใช่ร้อยกัป  พันกัป  หรือแสนกัป  ฟังดูไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้  แต่พระพุทธศาสนาก็ไม่เคยบอกว่าต้องเชื่อ  เพราะสิ่งเช่นนี้เกินวิสัยที่ใครจะคาดคิด  เหมือนกับที่ถามว่าสากลจักวาลที่เรามีชีวิตอาศัยอยู่นี้เริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร  และจะสิ้นสุดลงเมื่อไร  ย่อมไม่มีมนุษย์คนใดให้คำตอบได้  ทั้งๆ ที่สากลจักรวาลนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถรับรู้ทางประสาทสัมผัสได้บ้างบางส่วน  สากลจักรวาลนี้จึงปรากฏแก่้เราในทำนองเดียวกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  อนมตคฺโคยํ  สํสาโร  =  สงสารนี้มีที่สุดเบื้องต้นและเบื้องปลายอันกำหนดไม่ได้


////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

--->>>     การเกิดและการตายแบบชั่วขณะจิต


ความจริงในคำสอนของพระพุทธศาสนามีการกล่าวถึงการเกิดและการตายไว้ทั้ง ๒  นัย  คือ  การเกิดและการตายแบบข้ามภพข้ามชาติดังกล่าวมาแล้ว  และการเกิดและการตายแบบชั่วขณะจิต  การเกิดตายนัยแรกเป็นการเกิดตายของมนุษย์ตามที่เข้าใจกันทั่วไป  ส่วนการเกิดตายนัยหลังเป็นการเกิดตายที่กำหนดเอาอาการเกิดดับของจิตเป็นหลัก  พุทธศาสนาถือว่าจิตมีการเกิดดับเป็นขณะอยู่ตลอดเวลา  การเกิดและการตายแบบชั่วขณะจิต  มีข้อความในขุททกนิกาย  มหานิเทส กล่าวไว้ว่า

"ชีวิตน้อย  ย่อมตั้งอยู่น้อยอย่างไร...  ชีวิตย่อมเป็นอยู่ในขณะจิตปัจจุบัน  ไม่เป็นอยู่แล้ว  จักไม่เป็นอยู่

ชีวิต  อัตภาพ  สุข  และทุกข์ทั้งมวล  เป็นธรรมประกอบกันเสมอด้วยจิตเพียงดวงเดียว  ขณะย่อมเป็นไปรวดเร็ว  เทวดาเหล่าใดย่อมดำรงชีวิตอยู่ตลอดเวลาแปดหมื่นสี่พันกัป  เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่ประกอบด้วยจิตสองดวงดำรงอยู่เลย...

สัตว์ไม่เกิดด้วยขันธ์อันเป็นอนาคต  ย่อมเป็นอยู่ด้วยปัจจุบันขันธ์  สัตว์โลกตายแล้วเพราะความแตกแห่งจิต  นี้เป็นบัญญัติทางปรมัตถ์...  ขันธ์ทั้งหลายมาโดยไม่ปรากฏ  แตกแล้วก็ไำปสู่ที่ไม่ปรากฏ  ย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไปเหมือนสายฟ้าแลบในอากาศ"

ข้อความจากพระสุตตันตปิฎกข้างบนนี้  เป็นการแสดงการเกิดการตายแบบชั่วขณะจิต  ซึ่งเป็นการเกิดการตายตามความหมายทางปรมัตถ์  นั่นคือ  เมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น  สิ่งมีชีวิตที่มีจิตซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า  สัตว์  ก็ชื่อว่าเกิดขึ้น  เมื่อจิตดวงนั้นดับก็เรียกว่าสัตว์ตาย  การเกิดการตายแบบนี้มีอยู่ทุกขณะจิต  ในชั่วชีวิตตามธรรมดาของบุคคลหนึ่งย่อมมีการเกิดการตายแบบนี้นับครั้งไม่ถ้วน  ซึ่งย่อมแตกต่างจากการเกิดจากครรภ์มารดา  และตายเมื่อสังขารร่างกายนั้นแตกดับเพราะสิ้นลมหายใจ

ในข้อความที่ยกมากล่าวไว้นั้น  ข้อความว่า  "ชีวิตย่อมเป็นอยู่ในขณะจิตปัจจุบัน"  หมายความว่า  การดำรงอยู่ที่แท้จริงของชีวิตมีช่วงเวลาที่แสนสั้นเพียงชั่วขณะจิตเดียว  คือ  ขณะจิตปัจจุบันเท่านั้น  คำว่า  "ไม่เป็นอยู่แล้ว"  หมายความว่า  ชีวิตไม่ได้เป็นอยู่ด้วยขณะจิตที่เป็นอดีต  เพราะขณะจิตที่เป็นอดีตได้ดับไปแล้ว  ไม่มีอยู่แล้ว  คำว่า  "จักไม่เป็นอยู่" หมายความว่า  การดำรงอยู่ของชีวิตไม่ได้อยู่ด้วยขณะจิตที่เป็นอนาคต  เพราะขณะจิตที่เป็นอนาคตยังไม่เกิดขึ้น  จิตที่มีอยู่จริงๆ ก็คือจิตที่เป็นปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่เพียงขณะเดียวแล้วก็ดับ  เมื่อมันดับไปแล้วจิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้นสืบต่อและตั้งอยู่เพียงขณะเดียวแล้วดับไป  จิตจะเกิดดับทยอยกันไปไม่ขาดสายด้วยอำนาจการปรุงแต่งของเหตุปัจจัยคือ กิเลส  กรรม  และวิบาก  ตราบใดที่บุคคลยังไม่เข้าสู่นิพพาน  กระแสจิตก็ยังคงดำเนินเป็นสันตติเรื่อยไปตราบนั้น

ข้อความว่า  "ชีวิต  อัตภาพ  สุข  และทุกข์ทั้งมวลเป็นธรรมประกอบกันเสมอด้วยจิตเพียงดวงเดียว  ขณะย่อมเ็ป็นไปรวดเร็ว"  หมายความว่า  ชีวิต  ร่างกาย  สุข  และทุกข์ที่บุคคลมี  ก็มีอยู่ที่จิตซึ่งเกิดขึ้นทีละดวงหรือขณะละดวง  ช่วงเวลาที่ธรรมชาติมีสุขเป็นต้นดำรงอยู่จึงเป็นช่วงสั้นเท่ากับขณะจิตที่ดำรงอยู่เพียงขณะเดียวแล้วดับไปนั้นเท่านั้น  บรรดาสัตว์ทั้งหลายในภพภูมิทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทที่มีอายุสั้นจอย่างสัตว์เดียรัจฉานบางชนิด  หรือที่มีอายุยืนมากถึงแปดหมื่นสี่พันกัปอย่างพวกอรูปพรหมประเภทเนวสัญญานาสัญญายตนะ  ล้วนมีชีวิตดำรงอยู่ด้วยขณะจิตที่เกิดดับขณะละดวงเท่านั้น  ไม่ได้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยจิตที่เกิดดับทีละสองดวงหรือมากกว่าสองดวง  เพราะจิตของสัตว์ในทุกภพทุกภูมิที่เกิดดับทีละหลายดวงไม่มี  เพราะฉะนั้น  ถ้าพิจารณาจากแง่ปรมัตถ์  ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ที่มีอายุสั้นเมื่อเปรียบเทียบกับอรูปพรหมที่จัดว่าเป็นสัตว์มีอายุยืนต่างก็มีชีวิตที่ดำรงอยู่จริงๆ เท่ากัน  คือ  ชั่วเวลาของขณะจิตที่เป็นปัจจุบันเพียงขณะเดียว  เพราะโดยปรมัตถ์  สัตว์ชื่อว่าเกิดเมื่อจิตเกิด  ชื่อว่าตายเมือจิตดับ  เป็นอย่างนี้เหมือนกันในทุกภพทุกภูมิ

อนึ่งรูปขันธ์และนามขันธ์ของสัตว์ที่ประกอบด้วยขันธ์ทั้ง ๒ ประเภท  เช่น  มนุษย์ก็ดี  รูปขันธ์ของสัตว์ที่มีแต่รูปขันธ์เพียงอย่างเดียวอย่างพวกอสัญญีสัตว์ก็ดี  นามขันธ์ของสัตว์ที่มีแต่นามขันธ์อย่างเดียว  เช่น  พวกอรูปพรหมก็ดี  เมื่อเกิดมีขึ้นก็ไม่ปรากฏว่ามาจากไหน  เมื่อแตกดับเสื่อมสลายไปก็ไม่ปรากฏให้รู้ให้เห็นว่ามันหายไปไหน  เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสลายไปอย่างรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ

--->>>   กล่าวโดยสรุป  พุทธศาสนาได้กล่าวถึงการเกิดการตายไว้ทั้ง  ๒  แบบ  คือการเกิดการตายแบบข้ามภพข้ามชาติหรือการเกิดการตายอย่างที่ชาวโลกทั่วไปเข้าใจกัน  และการเกิดการตายแบบชั่วขณะจิตที่พิจารณาจากแง่ปรมัตถ์  การเกิดการตายทั้ง ๒ แบบนี้ก็ถูกต้องด้วยกันในขอบเขตแห่งความหมายของตน  แต่เมื่อกล่าวถึงสังสารทุกข์หรือความทุกข์ที่เกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดอันไม่มีที่สิ้นสุดว่าเป็นสิ่งที่ควรทำลายให้หมดสิ้นไป  พุทธศาสนาจะมุ่งเน้นถึงการเวียนว่ายตายเกิดแบบข้ามภพข้ามชาติ  มากกว่าการเกิดการตายแบบชั่วขณะจิต 
------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น